วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มองที่ความต่าง

มองที่ความต่าง

คนจะไม่เห็นความเหมือนของอีกฝ่าย จะจดจ้องจดจ่ออยู่กับความต่าง
ยิ่งแต่ละฝ่ายต่างอยู่แต่ในพวกของตัวอ่านหนังสือพิมพ์ของตัวเอง ดูโทรทัศน์ เว็บไซต์ วิทยุของตัวเองมันก็ยิ่งเสริมความสุดโต่งและอคติของตัวเองมากขึ้น 
และไม่ตระหนักเลยว่าทัศนคติของตัวเองนั้นสุดโต่งแค่ไหนแล้ว เพราะว่าอยู่แต่กับพวกของตัวเองถ้าคนทั่วไปสัมผัสคนแบบนี้แล้วจะรู้ว่าเขาสุดโต่งมากเลย แต่ตัวเขาเองจะไม่รู้ตัวแต่ละคนต่างเออออห่อหมกไปด้วยกัน คิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้อง......แล้วพอเขาออกมาข้างนอกก็จะทะเลาะกับผู้อื่น แล้วก็จะทำใจไม่ได้ถ้าถูกคนแย้งคนโต้จนในที่สุดก็ต้องถอยกลับมาเพื่อกลับมาอยู่กับพวกเดียวกัน เพราะจะรู้สึกอบอุ่นเพราะว่าออกไปข้างนอกความสุดโต่งของตัวมันทำให้เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องโดดเดี่ยว....


บทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล จาก a day Bulletin
ตามอ่านแบบเต็มๆได้ที่ http://bickboon.exteen.com/20100420/entry 



วันนี้ขอเสนอบทสัมภาษณ์ที่ชอบมาก จาก a day Bulletin ครับ
แนะนำให้ไปอ่านฉบับเต็มๆ ต่อกันได้ที่ daypoets.com/adb นะครับ
บทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล โดยพี่ตุ๊ก วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม 
บก.บห.ของอะเดย์บุลละตินครับ 

"...เพื่อนอาตมาเป็นคนอเมริกัน แต่งงานกับคนญี่ปุ่น มีลูกสาวเป็นลูกครึ่ง
แล้วลูกครึ่งคนนี้มีปัญหามากเลย คือเขาอยู่ญี่ปุ่น
เวลาไปโรงเรียน คนญี่ปุ่นก็จะหาว่าเด็กคนนี้เป็นอเมริกัน
พอเขากลับไปอเมริกา ญาติฝ่ายพ่อเขาก็จะบอกว่าเด็กคนนี้เป็นญี่ปุ่น
คนอเมริกันจะเห็นแต่ความเป็นญี่ปุ่นของเด็กคนนี้
ส่วนคนญี่ปุ่นก็จะเห็นแต่ความเป็นอเมริกันของเด็กคนนี้
ทั้งที่มันอยู่ในคนคนเดียวกัน
มุมมองแบบนั้นจะเห็นได้ชัดมากในเมืองไทยตอนนี้
คนจะไม่เห็นความเหมือนของอีกฝ่าย จะจดจ้องจดจ่ออยู่กับความต่าง..."

"...ยิ่งแต่ละฝ่ายต่างอยู่แต่ในพวกของตัว
อ่านหนังสือพิมพ์ของตัวเอง ดูโทรทัศน์ เว็บไซต์ วิทยุของตัวเอง
มันก็ยิ่งเสริมความสุดโต่งและอคติของตัวเองมากขึ้น และไม่ตระหนักเลยว่า
ทัศนคติของตัวเองนั้นสุดโต่งแค่ไหนแล้ว เพราะว่าอยู่แต่กับพวกของตัวเอง 
ถ้าคนทั่วไปสัมผัสคนแบบนี้แล้วจะรู้ว่าเขาสุดโต่งมากเลย แต่ตัวเขาเองจะไม่รู้ตัว
แต่ละคนต่างเออออห่อหมกไปด้วยกัน คิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้อง...
...แล้วพอเขาออกมาข้างนอกก็จะทะเลาะกับผู้อื่น 
แล้วก็จะทำใจไม่ได้ถ้าถูกคนแย้งคนโต้
จนในที่สุดก็ต้องถอยกลับมาเพื่อกลับมาอยู่กับพวกเดียวกัน เพราะจะรู้สึกอบอุ่น
เพราะว่าออกไปข้างนอกความสุดโต่งของตัวมันทำให้เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องโดดเดี่ยว
ซึ่งกรณีแบบนี้เป็นทั้งแดงทั้งเหลือง ทำให้อคติรุนแรงมากขึ้น
ทำให้การที่จะคุยให้รู้เรื่องและการเจรจาเป็นไปได้ยาก..."

"...สันติวิธีจริงๆ อาจจะมีการกดดันได้
สันติวิธีไม่ใช่การเจรจาอย่างเดียว
การกดดันบางครั้งอาจมีการทำสิ่งที่เรียกว่าดื้อแพ่ง ขัดขืน คว่ำบาตร ซึ่งทำได้
แต่ก็ต้องยอมรับผลกระทบว่ามันอาจผิดกฎหมาย
เช่น ถ้าเข้าไปขวางถนนก็ต้องพร้อมจะถูกจับ
ต้องเข้าใจว่าสมรภูมิการต่อสู้แบบสันติวิธีไม่ได้อยู่แต่บนท้องถนน
ไม่ได้อยู่แต่บนโต๊ะเจรจาอย่างเดียว
แต่มันอยู่ในคุกด้วย อยู่ในศาลด้วย
ดูตัวอย่างที่มหาตมะ คานธี ทำ
หรือพวกนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เขาก็ไปขวางกั้น ยึดครองพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
แล้วก็ยอมให้ตำรวจจับ ติดคุก แล้วก็สู้กันในศาล..."

"...ต้องยอมรับว่าคานธีเป็นคนที่ใช้คุกและศาลเป็นเวทีต่อสู้แบบสันติวิธี
ทั้งเปิดโปงความอยุติธรรมของระบบอาณานิคมอังกฤษ
ทั้งชนะใจคู่กรณี ซึ่งสุดท้ายศาลก็บอกว่า Argument ของคานธีนั้นถูก
แต่กฎหมายมันเป็นแบบนี้ก็ต้องทำตามกฎหมาย
ทำให้ท่านชนะใจคนอังกฤษ ชนะใจคนอินเดีย แล้วก็ชนะใจคนทั่วโลก
นี่คือสิ่งที่สันติวิธีต้องมี คือ หนึ่ง คุณกดดันได้ คุณฝ่าฝืนกฎหมายได้
เพราะกฎหมายบางอย่างก็ไม่เป็นธรรม...
...แต่ถ้าคุณจะฝ่าฝืนกฎหมายที่เขียนไว้ คุณก็ต้องยอมรับผลกระทบ
ไม่ใช่มาจับแล้วไม่ยอม อ้างว่าไม่ผิด
คานธี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ออง ซาน ซูจีและนักต่อสู้เพื่อสันติวิธีทั้งหลาย
จะไม่ปฏิเสธว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ผิดกฎหมาย
ก็ในเมื่อกฎหมายไม่ยุติธรรมนี่ เขาก็เลยต้องฝ่าฝืน
แต่จะไม่มีการปฏิเสธหน้าตาเฉยว่าไม่ผิดกฎหมาย
แต่จะบอกว่าการกระทำของเขามันถูกต้อง เป็นธรรม
และเป็นความตั้งใจของเขา ที่จะท้าทายกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
สันติวิธีต้องเป็นแบบนี้..."

"...ตอนนี้มีเสียงเรียกร้องจำนวนมากว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไร
ทำไมรัฐบาลไม่ใช้มาตรการเด็ดขาด
ตรงนี้ประชาชนต้องเข้าใจว่า ถ้าไปกดดันรัฐบาลแบบนั้น
ก็เท่ากับไปส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง เราต้องการความสงบ
แต่สิ่งที่เราอาจได้คือความไม่สงบยิ่งกว่าเดิม..."

"...มันไม่มีทางลัดสู่ความสงบ
เช่นเดียวกับไม่มีทางลัดสู่ประชาธิปไตย
เราต้องเข้าใจว่าจะต้องอดทน มันไม่มีทางลัด บางทีเราก็ต้องอ้อมบ้าง
ยอมเสียเวลาบ้าง อาตมาคิดว่าเราต้องยอมเสียเวลามากกว่ายอมเสียเลือดเนื้อ
นั่นคือสิ่งที่เครือข่ายสันติวิธีกำลังรณรงค์อยู่
เพราะฉะนั้น เขาจะประท้วงยังไงก็ปล่อยไป จะยึดราชประสงค์ก็ยึดไป
แต่อย่ากดดันรัฐบาลให้ใช้ความรุนแรง
ที่จริงวิธีการที่ต่างฝ่ายต่างต้องอดทนมันเป็นเรื่องจำเป็น
รู้ไหมบ้านเมืองเราสมัยก่อน
กรุงศรีอยุธยามักจะถูกล้อมด้วยพม่าอยู่เป็นประจำ ก่อนที่จะเสียกรุง 2 ครั้ง
วิธีที่พม่าใช้คือการบุกรุกในช่วงหน้าแล้ง เดินทางมาล้อมกรุงศรีอยุธยา
สิ่งที่กรุงศรีอยุธยาทำคือรอ เขาจะล้อมก็ล้อมไป แต่รอ
รอ 3-4 เดือน จนถึงหน้าฝน พม่าก็ต้องถอนทัพกลับไป
นี่คือวิธีที่กรุงศรีอยุธยาใช้ คือรอจนน้ำหลาก
ฝ่ายพม่าก็รู้ว่า ถ้ารอจนถึงฤดูน้ำหลากตัวเองก็ต้องแพ้
พม่าก็ต้องหาทางยั่วยุให้กรุงศรีอยุธยาส่งทหารออกมาสู้รบกัน
ถ้าออกมาก็เสร็จสิ ออกมาก่อนก็แพ้ แต่พม่าก็ไม่กล้าจะบุกเข้าไป
ไม่กล้าตีกำแพงเมือง เพราะอยุธยาอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะกว่า
นี่คือวิธีที่เราใช้แต่ก่อน แต่ถ้าคนอยุธยาบอกว่า 'ทำไมไม่ออกไปสู้'
'ทำไมปล่อยให้พม่ายึดเมืองอย่างนี้'
แต่พระมหากษัตริย์สมัยก่อนก็ต้องยอมทนแรงกดดันของประชาชน
อาตมาจะบอกว่า นี่คือวิธีการที่ใช้มานานแล้ว
สมัยสามก๊กก็ใช้วิธีนี้ บางครั้งคุณต้องรอ
และมันก็จะนำไปสู่ชัยชนะโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อด้วย..."


"...อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา บอกว่า
วิธีการดีที่้สุดในการกำจัดศัตรูก็คือทำให้เขากลายเป็นมิตร
เมื่อคุณทำให้เขาเป็นมิตร ศัตรูก็หายไปคนหนึ่งแล้ว
แล้วลินคอล์นทำยังไง 
ลินคอล์นก็เอาคนที่ชอบโจมตีเขามาเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเดียวกับเขา
เนลสัน แมนเดลา ก็ทำอย่างนี้
แมนเดลาจะเอาฝ่ายค้าน คนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา มาอยู่กับเขา
ซึ่งทำให้เขาชนะใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือถึงแม้จะไม่ชนะใจ
ก็ทำให้อีกฝ่ายอยู่ในสายตาของเขา...นี่คือวิธีการของแมนเดลา
เขาเอาคนขาวเป็นเป็นรองประธานาธิบดี
ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เคยฆ่าเพื่อนเขา ฆ่าคนของเขา
แต่เมื่อแมนเดลาเป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้
แล้วมันต้องสร้างชาติ ต้องสร้างสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น
ก็ต้องพยายามทำแบบนี้ นี่คือวิธีการเอาชนะใจ
การชนะศัตรูที่ดีที่สุดคือการเอาชนะใจเขา
แล้วถ้าคุณชนะใจเขาได้ คุณต้องใช้ความดี
ใช้ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อ
นี่แหละคือสันติวิธีอย่างหนึ่ง..."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น